TAPMA ตั้งธง...

นําอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยฝ่าทางตัน

 

สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) แถลงข่าวผลการจัดการประชุมใหญ่วิสามัญวาระพิเศษ “TAPMA ตั้งธง...นําอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยฝ่าทางตัน” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อระดมความคิดเห็นของสมาชิก รับฟังผลกระทบ ปัญหาอุปสรรคในสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมจัดทำแนวทางแก้ไขทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อนำเสนอภาครัฐบาลฯ  ณ ห้องประชุมไบเทค บางนา

คุณอนุษฐา เชาว์วิศิษฐ เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA)  กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่โลกกำลังให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อม ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต (Technology Disruption) ตลอดจนหนี้ครัวเรือนของประเทศที่สูงถึงร้อยละ 90 ของ GDP ในขณะที่รายได้ครัวเรือนยังต่ำ อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ ,การลงทุนจากต่างประเทศและดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังลดลงติดต่อกัน ,แรงงานมีรายได้ที่ลดลง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น , อีกทั้งจำนวนแรงงานวัยทำงานที่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาอัตราการเกิดต่ำหรือสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในการลงทุนในอนาคต รวมถึงการที่หน่วยงานเศรษฐกิจหลายแห่งลดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะ ซึ่งสาเหตุดังกล่าว ทำให้ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และกลุ่มยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีการแถลงปรับเป้าการผลิตยานยนต์ไทยสำหรับปี 2567 นี้ รวมเหลือ 1.7 ล้านคัน จากเดิมตั้งเป้าที่ 1.9 ล้านคัน ซึ่งเป็นการปรับลดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลง 2 แสนคัน จากเดิม 750,000 คัน เหลือเพียง 550,000 คัน และยังคงเป้าการผลิตเพื่อการส่งออก 1,150,000 คัน เนื่องจากยอดการผลิตครึ่งปีแรก มีจำนวนทั้งสิ้น 761,240 คัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่่ผ่านมา 17.39 % ยอดขายรถใหม่ภายในประเทศ มียอดขาย 308,027 คัน ลดลง 24.16 % ขณะที่ตัวเลขการส่งออกครึ่งปี มีการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 519,040 คัน ลดลง 1.85 %

สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) ในฐานะหน่วยงานกลางที่มีบทบาทระหว่างภาครัฐฯ และเอกชนฯ ซึ่งได้จัดตั้งมากว่า 46 ปี เข้มแข็งเติบโตเคียงคู่มากับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 660 บริษัท จึงได้มีมติเร่งด่วนให้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญวาระพิเศษ “TAPMA ตั้งธง...นําอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยฝ่าทางตัน” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อระดมความคิดเห็นของสมาชิก รับฟังผลกระทบ ปัญหาอุปสรรคที่แท้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมจัดทำแนวทางแก้ไขทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อนำเสนอภาครัฐบาลฯ อย่างเข้มข้น เชื่อว่าหากได้มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานรัฐฯ อย่างใกล้ชิดจริงจังและต่อเนื่อง จะสามารถช่วยให้มีนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด รักษาอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ป้องกันปัญหาการตกงานของคนไทยต่อไป

ก่อนการประชุมใหญ่วิสามัญ คณะกรรมการบอร์ดบริหารสมาคมฯ ได้มีการติดตามประเด็นต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าเข้าใจปัญหามาโดยตลอด จึงได้มีการกำหนด 3 กลยุทธ์หลักของสมาคม ทั้งนี้เนื่องจากภาครัฐได้มีการพูดถึงนโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้ามากเพียงพออยู่แล้ว จึงไม่มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดย 3 กลยุทธ์นี้ ได้แก่ 1. การเป็น Last Man Standing (Future ICE) หรือฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สันดาปสุดท้ายของโลก 2. Parts Transformation การหาโอกาสใหม่ ๆ จากฐานอุตสาหกรรมเดิมต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เครื่องมือแพทย์ ระบบราง หรืออากาศยาน 3. การพัฒนาตลาด REM (After Market) เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก หรือขยายฐานลูกค้า จะขอเรียกสั้น ๆ ให้เข้าใจตรงกันว่า Last Man Standing , Parts Transformation และ REM (After Market)

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA)  กล่าวว่า สถานการณ์ที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมนี้ หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน อุตสาหกรรมอาจจะไม่สามารถรักษาตำแหน่งที่สำคัญในเศรษฐกิจของประเทศได้ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่านโยบายภาครัฐ ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคและส่งต่อมายังอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอยู่เสมอ ภาครัฐฯ จึงจะเป็นส่วนสำคัญที่สุด และถึงเวลาที่รัฐฯ จะต้องรับฟังอย่างจริงใจ และร่วมกันแก้ไขปัญหาไปพร้อม ๆ กับภาคเอกชน จนสามารถก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปได้ ซึ่งสมาคมฯ มีความมั่นใจว่าภาครัฐฯ พร้อมที่จะหารือร่วมกัน จนตกผลึกเป็นนโยบายที่มีความเป็นธรรม และสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างแท้จริง

ตามที่คุณอนุษฐาได้พูดถึง 3 กลยุทธ์หลักของสมาคมแล้วนั้น ผลจากการระดมสมองเบื้องต้น แบ่งเป็นดังนี้

1. กลยุทธ์ Last Man Standing

สมาคมฯ มองว่ากลยุทธ์นี้สำคัญและตอบโจทย์มากที่สุด เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศกำลังจะย้ายฐาน ICE เดิมออกมา ทั้งจากการต้องการรวมการผลิตเพื่อลดต้นทุน และนโยบายแบน ICE ของบางประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว รถยนต์สันดาปสะสมยังคงจะยังวิ่งได้ต่อไป ทำให้ยังคงมีความต้องการชิ้นส่วนและอะไหล่ไปอีกอย่างน้อย 7-15 ปี ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสของไทย ที่จะสามารถใช้จุดแข็งเดิม รักษาฐานการส่งออกของ ICE โดยเฉพาะพวงมาลัยขวา ดึงดูดการลงทุนจากทุกประเทศทั่วโลก มาตั้งฐานการผลิตที่ไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสุดท้าย รวมถึงความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี ซึ่งอาจเกิดการ Reborn ของ ICE อีกด้วย

แต่ด้วยปัญหาเรื่องต้นทุน ทั้งวัตถุดิบต้นน้ำและการพัฒนา R&D รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสนับสนุน เช่น การลดภาษีนำเข้าของวัตถุดิบสำคัญ ,สิทธิภาษีในการนำเข้าเครื่องจักร หรือภาษีจากรายได้ โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิต ในกลุ่ม relocation Downsizing มาที่ไทย ฯ ซึ่งในเรื่องนี้ อยู่ระหว่างหารือกับ BOI

อีกเรื่องสำคัญในการดึงดูดการย้ายฐานมาที่ประเทศไทยนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ ที่ทำให้การแข่งขันมีความเท่าเทียมและเป็นไปตามกลไกการตลาด ปัจจุบันที่มีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 แต่ยังขาดความชัดเจนในนโยบาย 70@30 กล่าวคือ นโยบายหรือจุดยืนที่จะต้องประกาศออกไปให้ทั่วโลกรับทราบอย่างชัดเจน ว่าประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับ ICE พร้อมนโยบายส่งเสริมการผลิต ICE อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถ HEV โดยล่าสุดจากการหารือร่วมกับ BOI ได้มีมติส่งเสริมดังกล่าว โดยการลดอัตราภาษี HEV ลงมาที่ 6% แต่ยังอยู่ระหว่างการรอ ครม ซึ่งปัจจุบันอย่างที่เราทราบกันดีถึงการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล ทำให้ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะถูกออกประกาศเมื่อไร หากช้าไป อาจจะทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงการลงทุนนี้ได้ เนื่องจากทุกกิจการมีความจำเป็นต้องวางแผนการลงทุนล่วงหน้า อีกทั้งสมาคมฯ ยังเห็นว่าการลดภาษี HEV เหลือ 6% นี้ อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการแข่งขันกับรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการใช้ชิ้นส่วนฯ น้อยกว่า ดังนั้นหากเป็นไปได้ภาครัฐควรเร่งพิจารณาลดภาษีเพื่อจูงใจมากขึ้น เพื่อให้ยังเหลือความต่างระหว่างการปลดปล่อยคาร์บอน แต่ไม่มากเกินไป จนไม่สามารถแข่งขันได้

2. กลยุทธ์ REM (Aftermarket)

ตลาด Aftermarket เป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีความน่าสนใจ และเป็นโอกาสของผู้ผลิตชิ้นส่วน แต่มีความท้าทายด้านตลาดและการสร้างแบรนด์ การสร้างการรับรู้แบรนด์และการเข้าถึงตลาดในตลาดหลังการขายมีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงเรื่องต้นทุนเช่นกัน

ดังนั้นการสนับสนุนจากรัฐบาลควรเป็นสิ่งที่จับต้องได้ของการหาตลาดส่งออก พร้อมทั้งวิธีการที่ถูกต้อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนสินค้าถึงปลายทาง สิ่งสำคัญอย่างมากคือ Platform ที่จะช่วยให้สามารถขายได้ทั่วโลก ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมาก และมีทีมดูแลที่ต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาไปเรื่อย ๆ หากเป็นเอกชนรายใดรายหนึ่งจัดทำ หรือภาครัฐฯ เป็นผู้ดูแลเอง แต่ขาดผู้เชี่ยวชาญของอุตสาหกรรมที่เป็นผู้เล่นตัวจริง ก็อาจจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ และด้วยเงินทุนที่สูงมาก ดังนั้นสมาคมฯ เห็นว่ารัฐควรสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว โดยมีหน่วยงานกลาง เหมือนอย่างที่ไต้หวันมีการจัดตั้ง TAIWAN Excellence เพื่อดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่การทำR&D การเป็นศูนย์กลางในการส่งออกไปทั่วโลก รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการร่วมออกงานแสดงสินค้าต่างประเทศเพื่อหาตลาดใหม่ ๆ อยู่เสมอ

นายสุพจน์ สุขพิศาล รองเลขาธิการสมาคมฯ และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า

3. กลยุทธ์ Parts Transformation

การที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการความแม่นยำสูงมาก เรียกได้ว่าเรามีความสามารถในการผลิตระดับสูง มีระบบระเบียบแบบแผนจากการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 50 ปี ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขยับไปทำอุตสาหกรรมอื่น เช่น ระบบราง เครื่องมือแพทย์ อากาศยาน ได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ผลิต

ปัญหาปัจจุบันยังคงเป็นช่องว่างด้านเทคโนโลยีและความรู้ของอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเปลี่ยนไปทำได้ อุปสรรคด้านการลงทุนและต้นทุนที่สูง ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการเปลี่ยนแปลง โดยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาและการปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นอุปสรรคสำคัญ รวมถึงการเข้าถึงตลาดและความไม่แน่นอนของความต้องการ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่ต้องได้รับการยินยอมจากแพทย์ เป็นต้น

ดังนั้นหากภาครัฐ ต้องการให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ สามารถปรับเปลี่ยนไปทำอุตสาหกรรมอื่นได้นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมและเปิดทางให้แก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ต้องเป็นหน่วยงานกลางในการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ และแก้ไขปัญหาอุปสรรคบางอย่าง

**ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย : การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย**

โดยสรุปทั้งหมดของทั้ง 3 กลยุทธ์ "Last Man Standing," "Parts Transformation," และ "REM (Aftermarket) มาตรการจูงใจต่อไปนี้ ควรได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม กระจายความเสี่ยงสู่ตลาดใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

1. มาตรการจูงใจทางภาษี

การลดภาษี HEV ให้ต่ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและออกประกาศให้ทันเวลาในการตัดสินใจย้ายฐานการผลิต

เครดิตภาษีด้านการวิจัยและพัฒนา : เสนอเครดิตภาษีหรือการหักลดหย่อนสำหรับบริษัทที่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

การอนุญาตให้หักลดหย่อนภาษีจากการลงทุน : จัดให้มีการหักลดหย่อนภาษีหรือการหักค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนสำหรับการซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีใหม่ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลง

การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล : ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลชั่วคราวสำหรับบริษัทที่มุ่งมั่นลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง เช่น การเข้าสู่ตลาดใหม่หรือการยกระดับความสามารถในการผลิต

2. เงินอุดหนุนและเงินช่วยเหลือ

เงินช่วยเหลือสำหรับการนำเทคโนโลยีมาใช้ : จัดสรรเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ระบบอัตโนมัติ และกระบวนการผลิตขั้นสูงมาใช้ เงินช่วยเหลือนี้อาจครอบคลุมส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้

เงินช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนา : เสนอเงินช่วยเหลือให้กับบริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วน การพัฒนาวัสดุใหม่ และนวัตกรรมในกระบวนการผลิต

เงินช่วยเหลือสำหรับการพัฒนาตลาดส่งออก : อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการทำ Platform รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัยตลาด การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ และการจัดตั้งช่องทางการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ

เงินอุดหนุนสำหรับการฝึกอบรมแรงงาน : จัดสรรการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการยกระดับทักษะของแรงงาน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีใหม่ วิธีการผลิต และข้อกำหนดเฉพาะของตลาด (เช่น มาตรฐานอากาศยาน)

3. การค้ำประกันการลงทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ**

การค้ำประกันการลงทุนโดยรัฐบาล : เสนอการค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับบริษัทที่ลงทุนในภาคส่วนใหม่ โดยเฉพาะสำหรับ SMEs ที่เข้าสู่อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินทุนสูง เช่น อากาศยานหรืออุปกรณ์การแพทย์

เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ : จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือทางเลือกทางการเงินสำหรับบริษัทที่ลงทุนในโครงการเปลี่ยนแปลง เงินกู้เหล่านี้อาจเสนอผ่านสถาบันการเงินของรัฐหรือร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์

กองทุนนวัตกรรม : จัดตั้งกองทุนนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งให้การลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นหรือเงินกู้แปลงสภาพแก่บริษัทที่เป็นผู้นำในความพยายามเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในพื้นที่เทคโนโลยีขั้นสูงหรือการเติบโตสูง

4. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

ศูนย์วิจัยและพัฒนาร่วม : สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาที่มุ่งเน้นนวัตกรรมในชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมทางเลือก และโซลูชันตลาดหลังการขาย ศูนย์เหล่านี้สามารถให้ทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน ความเชี่ยวชาญ และเงินทุนเพื่อเร่งนวัตกรรม

คลัสเตอร์นวัตกรรม : พัฒนาคลัสเตอร์หรือศูนย์กลางนวัตกรรมที่บริษัทต่าง ๆ สามารถร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในภาคยานยนต์

5. การยกเว้นภาษีนำเข้า

การนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ : เสนอการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับโครงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถช่วยลดภาระการลงทุนเริ่มต้นสำหรับบริษัทที่กำลังยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

การยกเว้นสำหรับส่วนประกอบเทคโนโลยี : จัดให้มีการยกเว้นภาษีสำหรับการนำเข้าส่วนประกอบเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่มีในประเทศ แต่จำเป็นสำหรับการทำให้กระบวนการผลิตทันสมัย

6. การสนับสนุนด้านกฎระเบียบและการทำให้ง่ายขึ้น**

กระบวนการอนุมัติที่รวดเร็ว : ทำให้กระบวนการอนุมัติสำหรับโครงการลงทุนง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่หรือการเข้าสู่ตลาดใหม่ ซึ่งอาจรวมถึงการอนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เร็วขึ้นและลดขั้นตอนทางราชการในการเข้าถึงการสนับสนุนจากรัฐบาล

Regulatory Sandboxe: สร้าง regulatory sandboxes ที่อนุญาตให้บริษัททดลองใช้เทคโนโลยีใหม่และโมเดลธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมโดยไม่ต้องแบกรับภาระการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมนวัตกรรม