โตชิบาผนึกกำลัง ริงโกะ บัส และไดรฟ์ อิเล็กโทร

ผลักดันโครงการสาธิตรถบัสไฟฟ้าชนิด

ชาร์จเร็วพิเศษภายใน 10 นาที

 

บริษัท โตชิบา คอร์ปอเรชั่น ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับบริษัท คาวาซากิ สึรุมิ ริงโกะ บัส จำกัด (หรือ ริงโกะ บัส) และบริษัท ไดรฟ์ อิเล็กโทร เทคโนโลยี จำกัด (หรือ ไดรฟ์ อิเล็กโทร เทคโนโลยี) เพื่อทำการศึกษาโครงการสาธิตนำร่อง เพื่อยืนยันประสิทธิภาพแบตเตอรี่ชนิดชาร์จเร็วพิเศษด้วยแหนบรับไฟหรือแพนโทกราฟ คาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2568 ภายหลังปรับปรุงรถบัสและติดตั้งระบบชาร์จด้วยแหนบรับไฟในอู่จอดรถเสร็จสิ้น ทั้งนี้ รถบัสรุ่นดังกล่าวจะให้บริการวิ่งตามเส้นทางปกติบนถนนสาธารณะในเมืองคาวาซากิ ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงโตเกียว

โครงการนี้นับเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นที่มีการนำรถออกทดลองบนท้องถนนสาธารณะ โดยโครงการนี้จะช่วยสาธิตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเดินรถบัสไฟฟ้าที่ชาร์จด้วยระบบแหนบรับไฟในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ บริษัทริงโกะ บัส จะเป็นผู้ให้บริการเดินรถ ส่วนบริษัทไดรฟ์ อิเล็กโทร เทคโนโลยีจะเป็นผู้ผลิตระบบชาร์จด้วยแหนบรับไฟและดัดแปลงรถบัสดีเซลให้เป็นรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ SCiB™ ชนิดชาร์จเร็วพิเศษของโตชิบา นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมุ่งทดสอบด้วยว่าแบตเตอรี่ SCiB™ ที่ใช้แล้วสามารถนำมาใช้ซ้ำได้หรือไม่ โดยจะนำแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วมาติดตั้งในระบบชาร์จด้วยแหนบรับไฟและชาร์จไฟเพื่อลดการใช้พลังงานในช่วงที่มีความต้องการสูงสุด แล้วนำมาใช้จ่ายไฟให้กับแบตเตอรี่บนรถผ่านระบบแหนบรับไฟ

แม้ว่ารัฐบาลจีนและยุโรปจะสนับสนุนรถบัสไฟฟ้าเพราะถือเป็นการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ยอดขายทั่วโลกในปีพ.ศ. 2566 กลับขายได้เพียง 50,000 คัน ซึ่งคิดเป็นแค่ร้อยละ 3 ของยอดขายรถบัสทั้งหมด ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของรถบัส ได้แก่ ระยะเวลาการชาร์จที่ยาวนานและจำนวนสถานีชาร์จที่มีจำกัด ส่วนอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ การต้องจัดหาพื้นที่ชาร์จรถบัสขนาดใหญ่และติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จจำนวนมาก ความท้าทายเหล่านี้มีความสำคัญเป็นพิเศษในกรณีที่จะนำรถบัสไฟฟ้ามาใช้ในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีพื้นที่จำกัด

โตชิบาจะร่วมมือกับ ริงโกะ บัส และ ไดรฟ์ อิเล็กโทร เทคโนโลยี เพื่อนำขีดความสามารถของแต่ละบริษัทออกมาใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อส่งเสริมผลักดันโครงการสาธิตนี้ให้เป็นโครงการริเริ่มที่ล้ำสมัย และเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้บุกเบิกในการนำระบบนี้มาใช้ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเติบโตอย่างยั่งยืนของสังคมโดยรวม