โตโยต้า ครบรอบ 60 ปี ปลูกป่า 600,000 ต้น
ร่วมมือกรมป่าไม้ และพันธมิตรทางธุรกิจ
นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย มร. โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายณพพลวรรฒ โสมณวัตร์ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี และคณะผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้า บริษัทในเครือฯ ผู้ผลิตชิ้นส่วนโตโยต้า ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า พันธมิตรทางธุรกิจ และจิตอาสาโตโยต้า รวมกว่า 1,800 คน ร่วมเปิดโครงการ “โตโยต้า ครบรอบ 60 ปี ปลูกป่า 600,000 ต้น” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเริ่มต้นจากการปลูกป่าภายในพื้นที่ของโรงงาน โตโยต้าบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจำนวน 18,000 ต้น เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ในการดำเนินงานในประเทศไทย โตโยต้า ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่กับการเป็น "ผู้นำพาการขับเคลื่อนยุคใหม่ เพื่อเสริมสร้างความสุขของผู้คน และความยั่งยืนของสังคม” โดยหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญคือการ เสริมสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว โตโยต้าได้มีความพยายามเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง (Multi-Pathway) พร้อมกับความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านการจัดการกระบวนการตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในนั้นคือ การยกระดับการดำเนินงานในสายการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตมากมาย อาทิ นวัตกรรมด้านพลังงาน เช่น นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในสายการผลิต การนำหลักกลศาสตร์ “คาราคุริ” มาใช้เพื่อลดการใช้พลังงานในสายการผลิต ตลอดจนการนำเสนอกิจกรรมไคเซ็นด้านการลดการใช้พลังงานและทรัพยากรโดยพนักงานอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการขยายผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องในวาระโอกาสฉลองการดำเนินงานในประเทศไทยครบ 60 ปี โตโยต้าจึงได้ริเริ่มโครงการ “โตโยต้า ครบรอบ 60 ปี ปลูกป่า 600,000 ต้น” เพื่อเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยตั้งเป้าเป็นโครงการระยะยาว ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น กรมป่าไม้ ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับปี 2565 ได้วางแผนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในโรงงานโตโยต้าทั้ง 3 แห่ง เป็นจำนวน 200,000 ต้น เริ่มต้นจากการปลูกป่า 18,000 ต้น ที่โรงงาน โตโยต้าบ้านโพธิ์ในวันนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนต้นกล้าจากกรมป่าไม้ และตั้งเป้าขยายการดำเนินงานสู่ภายนอก อีก 400,000 ต้น ต่อไป เพื่อให้ครบตามเป้าหมายในปีนี้ ที่ 600,000 ต้น
กิจกรรมในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความสำเร็จของกิจกรรมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่โตโยต้าได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนรวมราว 2 ล้านต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 19,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อันประกอบด้วย กิจกรรมปลูกป่านิเวศ ตามแนวคิดของ ศ.ดร. อาคิระ มิยาวากิ ผู้เชี่ยวชาญการปลูกป่านิเวศจากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้เริ่มต้น ณ โรงงาน โตโยต้าบ้านโพธิ์ ในปี พ.ศ. 2551 และได้ร่วมมือกับผู้แทนจำหน่ายฯ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน และหน่วยงานต่าง ๆ ในการปลูกป่านิเวศทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 1,350,000 ต้น และกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งจนถึงปัจจุบันได้มีการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 642,800 ต้น
นายสมคิด ประดิษฐ์กำจรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน โตโยต้า จึงมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในกระบวนการผลิต โดยนอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในโรงงานแล้วนั้น การเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญ โดยกิจกรรมในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ดี ที่แสดงให้เห็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ซึ่งโตโยต้าเชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนพลังด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs - Sustainable Development Goal) ตลอดจนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ของประเทศไทยภายในปี ค.ศ. 2050 ให้ลุล่วงต่อไป”
นอกเหนือจากกิจกรรมในวันนี้ โตโยต้ายังมุ่งมั่นในการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่สังคมไทย ภายใต้โครงการ “โตโยต้า เมืองสีเขียว” ผ่านกิจกรรมและการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ กิจกรรมลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา กิจกรรมลดเปลี่ยนโลก ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา เป็นต้น ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้และปรับพฤติกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมืองสีเขียว ตลอดจนเสริมสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างยั่งยืนต่อไป