7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ 65

วันแรกบาดเจ็บ 238 คน เสียชีวิต 26 ราย

 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2565 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน 2565 เกิดอุบัติเหตุ 237 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 238 คน โดยการขับรถเร็วยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด รองลงมาดื่มแล้วขับ เน้นย้ำจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนควบคู่กับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID -19 กำชับกวดขันความพร้อมและคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุกับผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วเกินกำหนดและดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะบนเส้นทางเชื่อมต่อสู่ภูมิภาคและเส้นทางเลี่ยงเมือง

 

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมืองในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2565 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 237 ครั้งผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 238 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ  32.91 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 21.94 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.90 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.73 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.38 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 83.97 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 11.01 – 12.00 น. ร้อยละ 8.44 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 23.86 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (14 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี (3 ราย) ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,902 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,343 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 350,748 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 64,343 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 18,275 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 17,748 ราย

 

นายนิรัตน์ กล่าวต่อว่า ศปถ.ได้ประสานจังหวัดดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนควบคู่กับการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 เน้นการเรียกตรวจและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเส้นทางเลี่ยง ทางลัด และทางเชื่อมต่อสู่ถนนสายหลักในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนนทางตรงวิ่งสวนเลน และไม่มีเกาะกลาง จึงสามารถใช้ความเร็วได้สูง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยใช้กลไกของจุดตรวจร่วมและด่านชุมชน เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงและลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ ทั้งขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ง่วงแล้วขับ รวมถึงเพิ่มการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถตู้ รถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะในลักษณะที่เป็นอันตราย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุรุนแรง นอกจากนี้ ให้สนธิกำลังหน่วยทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการจราจร เปิดช่องทางพิเศษ เพิ่มจุดบริการประชาชน จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณจุดตัดเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจรแก่ประชาชน

 

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติพบว่าจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลงกว่าร้อยละ 40  เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันแรกของการรณรงค์ย้อนหลัง 3 ปี แต่สาเหตุหลักยังคงเกิดจากการขับรถเร็วและการดื่มแล้วขับ ขณะที่พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ผู้ประสบเหตุเสียชีวิต คือการขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดเข้มงวดกวดขันการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยของผู้ขับขี่ เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลอดทั้งวัน เส้นทางหลายสายจะยังมีปริมาณรถหนาแน่นต่อเนื่อง จึงขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว หากขับรถระยะทางไกลให้หยุดพักรถทุก 1-2 ชั่วโมง ไม่ฝืนขับรถเมื่อมีอาการง่วงนอน เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยสำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งเหตุทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

 

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM