สภาองค์กรผู้บริโภคออกโรงกระตุ้นค่ายรถ
เร่งเปลี่ยนถุงลมนิรภัยทากาตะเจ้าปัญหาด่วน!!!
จากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการระเบิดของถุงลมนิรภัยขณะเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งในประเทศไทย ซึ่งได้รับการยืนยันจากการชันสูตรว่าเกิดจากเศษโลหะของชิ้นส่วนถุงลมนิรภัยที่ตกมาตรฐาน ยี่ห้อทากาตะ (Takata) นั้น สภาองค์กรผู้บริโภคเรียกร้องบริษัทรถยนต์ 8 ยี่ห้อ ให้ทำการเปลี่ยนถุงลมยี่ห้อนี้ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียถึงชีวิต ให้กับผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้ ยังมีรถยนต์ในไทยที่ยังมีการใช้งานอยู่ กว่าหกแสนคันที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยอันตรายนี้
คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้องให้บริษัทรถยนต์ทั้ง 8 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า, บีเอ็มดับบลิว ,นิสสัน ,โตโยต้า, มิตซูบิชิ, มาสด้า, เชฟโรเลต และฟอร์ด ที่ได้มีการขายรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยอันตรายยี่ห้อดังกล่าวในประเทศไทยมากว่าสิบปี เร่งดำเนินการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
เหตุการณ์การเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยยี่ห้อ ทากาตะ (Takata) สำหรับประเทศไทยนั้น มีการขายรถหลายยี่ห้อ หลายรุ่น กว่า 1.7 ล้านคันที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยดังกล่าว (ตัวเลขตั้งแต่ปี 2551) ค่ายรถได้มีการเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนถุงลมไปแล้วประมาณกว่า ล้านคัน และยังคงมีรถอีกประมาณ 6 แสนคันที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย
คุณชีพ น้อมเศียร ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมฯ ได้รับรายงานปัญหาถุงลมนิรภัยบกพร่องดังกล่าวตั้งแต่เริ่มมีข่าวการประกาศเรียกคืน (Recall) ในต่างประเทศ และจากการตรวจสอบพบรถที่มีถุงลมนิรภัยบกพร่องจำนวนทั้งสิ้น 1,725,816 คัน ในปี 2561 กรมฯ จึงร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ใช้รถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยที่บกพร่อง นำรถไปเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหลังจากมีการติดตามการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถแก้ไขชุดถุงลมนิรภัยไปได้จำนวน 1,045,336 คัน คิดเป็นร้อยละ 60.6 แต่ยังคงเหลือรถอีกจำนวน 680,480 คัน ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัย
ปัจจุบันกำลังเตรียมดำเนินการในระยะที่ 2 คือ บูรณาการข้อมูลรถที่ยังไม่ได้แก้ไขชุดถุงลมนิรภัยเข้ากับฐานข้อมูลการชำระภาษีของกรมฯ เมื่อรถที่อยู่ในข่ายต้องเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยทำการชำระภาษีผ่านช่องทางใดก็ตาม จะมีการแจ้งเตือนให้นำรถไปเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยเพื่อความปลอดภัย โดยคาดว่า ระบบจะสามารถใช้งานได้ภายในปลายปี 2565 นี้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ จะใช้สื่อช่องทางต่าง ๆ ของกรมฯ ในการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของรถได้รับทราบข้อมูลโดยเร็ว ทั้งนี้ เจ้าของรถสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่าน www.checkairbag.com หรือนำรถเข้าไปที่ศูนย์บริการทุกสาขา หรือติดต่อผ่านฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ หรือติดต่อสายด่วน 1584 เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง
จากข้อมูลดังกล่าว A Car News ได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการยานยนต์ ที่ระบุไว้ว่ายังคงมีรถยนต์ที่ต้องเรียกผู้ครอบครองมาเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้ครบตามกำหนด เพื่อความปลอดภัยกับชีวิตและทรัพย์สิน
MAZDA
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์มาสด้าอย่างเป็นทางการในประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทได้ส่งเอกสารแจ้งไปให้กับลูกค้ามาสด้าที่ครอบครองรถยนต์มาสด้า และเข้าข่ายที่ต้องได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยของทากาตะ และยังได้ร่วมมือกับทางกรมขนส่งทางบก ในการประสานงานด้านข้อมูลการจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปี เพื่อแจ้งให้ลูกค้าได้รับข้อมูลอีกหนึ่งช่องทาง รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกและบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ มาโดยตลอด รวมถึงการเผยแพร่ข่าวสารประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์มาสด้าและเว็บไซต์ที่จัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านทางผู้จำหน่ายเมื่อมีรถเข้าตรวจเช็คตามระยะทางนับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2560 เป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง
การเรียกรถยนต์มาสด้ากลับเข้ารับบริการเพื่อตรวจสอบและเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในชุดถุงลมนิรภัยของทากาตะ ซึ่งเป็นมาตรการเชิงป้องกัน และเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยสูงสุดให้กับลูกค้า มีรถยนต์ที่เข้าข่ายจำนวน 118,402 คัน ที่ต้องเข้ารับการบริการตรวจสอบและเปลี่ยนชุดชิ้นส่วนภายในถุงลมนิรภัยได้ที่ศูนย์บริการมาสด้าทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 30 นาที
ทั้งนี้มาสด้าตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของลูกค้า จึงได้มีการแจ้งเรียกรถยนต์มาสด้าที่อยู่ในข่ายที่จะต้องมีการตรวจสอบและเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในของถุงลมนิรภัยที่ผลิตจากทากาตะ จากกรณีปัญหาของชุดสร้างแรงดันก๊าซในชุดถุงลมด้านด้านฝั่งคนขับและฝั่งผู้โดยสาร ที่อาจสร้างแรงดันสูงกว่าปกติในกรณีที่ชุดถุงลมทำงานในบางกรณี ซึ่งอาจส่งผลทำให้ชุดถุงลมแตกออกและก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร
มาสด้าได้ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกค้ามาสด้าทราบว่ารถยนต์มาสด้าของท่านมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและเปลี่ยนถุงลมนิรภัย เพื่อยืนยันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ว่าตรงตามมาตรฐานที่มาสด้ากำหนดไว้ทั่วโลก และเพื่อความสะดวกสบายของลูกค้าเป็นหลักสำคัญ ดังนั้น บริษัทฯ จึงขอเชิญลูกค้านำรถยนต์เข้ารับบริการโปรแกรมบริการพิเศษนี้ ณ ศูนย์บริการมาสด้าที่ลูกค้าสะดวก
การแจ้งเรียกรถยนต์มาสด้าเพื่อเข้ารับการตรวจสอบในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย
1. รถสปอร์ตมาสด้าRX-8 ปีที่ผลิต 2004-2007 จำนวน 20 คัน
2. รถยนต์นั่งมาสด้า6 ปีที่ผลิต 2007 จำนวน 4 คัน
3. รถปิกอัพมาสด้า บีที-50 ปีที่ผลิต 2006-2011 จำนวน 710 คัน
4. รถยนต์นั่งมาสด้า2 ปีที่ผลิต 2009-2014 จำนวน 101,436 คัน
ในปัจจุบันมีลูกค้ากลับเข้ามรับการบริการและเปลี่ยนถุงลมนิรภัยแล้วมากว่า 60% ของจำนวนรถทั้งหมดที่ต้องเข้ารับการบริการ สำหรับลูกค้าที่เป็นเจ้าของรถยนต์มาสด้าในแต่รุ่นและปีที่ผลิตดังกล่าวที่เข้าข่ายการเรียกกลับเข้ามาตรวจสอบ แต่ยังไม่ได้รับจดหมายแจ้งจากทางมาสด้าเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ หรือมีการเปลี่ยนผู้ครอบครอง หรือหากในกรณีที่ลูกค้าสงสัยว่ารถยนต์ของท่านอยู่ในข่ายที่ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนในถุงลมนิรภัยหรือไม่ สามารถนำหมายเลขตัวถังเข้าตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้หลากหลายช่องทาง อาทิ เว๊บไซต์มาสด้า [http://www.mazda.co.th%20หรือ]www.mazda.co.th หรือโทรศัพท์ตรวจสอบที่ศูนย์บริการมาสด้าทั่วประเทศ หรือโทรตรวจสอบที่ Mazda Speedline หมายเลขโทรศัพท์ เบอร์โทรศัพท์ 02-030-5666
NISSAN
สำหรับบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีรถมากถึง 8 รุ่น ที่ต้อง Recall เพื่อเปลี่ยนถุงลมนิรภัย และบริษัทได้ดำเนินการอย่างตื่อเนื่องตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน เพราะความปลอดภัยของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของนิสสัน โดยบริษัทยังคงติดต่อลูกค้าผ่านหลายช่องทาง เช่น โทรศัพท์, SMS, จดหมาย และช่องทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบให้กับรถยนต์ทุกรุ่น (ในรายการ) ที่มารับบริการกับผู้จำหน่าย เป้าหมายคือเร่งดำเนินการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้กับลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น)
ปัจจุบันเดือนพฤษภาคม 2565 นิสสัน สามารถจัดการเปลี่ยนชิ้นส่วนถุงลมนิรภัยให้กับลูกค้าได้จำนวนมากกว่า 100,000 คัน ส่วนที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยน บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ คงทำการติดต่อเพื่อเปลี่ยนและพร้อมแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการติดต่อลูกค้าที่ครอบครองรถยนต์ดังกล่าวในทุกช่องทาง
ลูกค้าที่ไม่ได้เข้ามาเปลี่ยน คาดว่าข้อมูลของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามการครอบครอง เพราะจากอายุของรถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการครอบครอง ซึ่งบริษัทไม่มีชื่อผู้ครอบครองที่มีการเปลี่ยนมือไป อย่างไรก็ตาม บริษัทเผยแพร่ข้อมูลเช่นหมายเลขตัวถังของรถเหล่านั้นไปสู่หลาย ๆ ช่องทางที่ลูกค้าสามารถตรวจสอบเองได้ เช่น การตรวจสอบจากเว็บไซต์ของนิสสัน link : https://www.nissan.co.th/owners/recall-nissan.html ตลอดจนความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและกรมการขนส่งทางบก (DLT) เพื่อแจ้งให้ลูกค้าทราบเกี่ยวกับปัญหานี้ และต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนเช่นกันที่เป็นช่องทางในการแจ้งข่าวสารนี้ให้แก่ลูกค้าและผู้ใช้รถยนต์ทุก ๆ คนได้ทราบ
BMW
บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย ได้มีการติดต่อลูกค้าเพื่อเรียกรถยนต์เข้ารับการตรวจสอบและเปลี่ยนถุงลมนิรภัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ อย่างต่อเนื่องจากฐานข้อมูลในระบบของทางบริษัท ประกอบกับการอัพเดตข้อมูลรถยนต์ที่เกี่ยวข้องจากกระบวนการตรวจสอบของผู้ผลิตถุงลมเสริมความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่สามารถติดต่อได้ อาจเพราะมีการเปลี่ยนผู้ครอบครองรถ บริษัทจึงร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกและสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในด้านข้อมูลการจดทะเบียนและการประชาสัมพันธ์มาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ 2561 และยังคงดำเนินการร่วมมืออย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน กับกรมขนส่งทางบกและสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในการพัฒนาระบบทางทะเบียนและภาษีให้มีการแจ้งเตือน หากรถยนต์ที่เข้ามาทำการชำระภาษีเข้าข่ายได้รับผลกระทบ เพื่อมาแก้ไขรถยนต์ในข่ายให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการพัฒนาระบบและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้ ดังที่กรมขนส่งทางบกกล่าวในข้างต้น
สำหรับรถยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู ที่ได้ทำการเปลี่ยน Airbag ไปแล้วเป็นระยะ ๆ และเป็นไปตามที่สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) ได้มีการประกาศจำนวนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 1,725,816 คัน โดยขณะนี้ได้มีการแก้ไขไปแล้ว 1,045,336 คันนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 และยังเหลือจำนวนที่รอแก้ไขอีก 680,480 คัน ทั้งหมดนี้ เป็นภาพรวมของความร่วมมือระหว่างค่ายรถยนต์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและกรมการขนส่งทางบก ในความร่วมมือกันเพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ให้เป็นมาตรการเดียวกันทั้งในประเทศไทยและในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก